ความเป็นมาของการวิจัย
เมื่อมนุษย์เกิดมา สิ่งที่หนีไม่พ้น คือ ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เช่น โรคระบาด น้ำท่วม แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด แต่ไม่มีมนุษย์คนใดที่อยากจมอยู่กับความทุกข์ ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญปัญหา มนุษย์จึงต้องดิ้นรนหาทางต่อสู้ ให้หลุดพ้นจากปัญหาอุปสรรคโดยการค้นหาความรู้ความจริงที่เป็นสาเหตุของปัญหาเพื่อนำความรู้ความจริงที่ได้มาอธิบาย ควบคุม หรือพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า ก่อนหาทางป้องกัน แก้ไข
ในยุคโบราณมนุษย์ค้นหาความจริงด้วยวิธีที่ยังไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่ได้คำนึงถึงเหตุและผล เช่น เมื่อเกิดปัญหาหรือ มีข้อสงสัยก็ไปหาหมอดู หมอผี ไปถามนักปราชญ์ ใช้ประสบการณ์ตัวเอง ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ปฏิบัติตามจารีตประเพณี หรือได้ความรู้มาโดยบังเอิญ
ในระยะต่อมามนุษย์พบว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้ความจริงที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้เสมอไป จึงเริ่มพัฒนาวิธีการค้นหาความรู้ความจริงโดยนำหลักเหตุผลมาใช้ เช่น วิธีอนุมานของอริสโตเติ้ล โดยค้นหาความจริงจากเหตุใหญ่ไปสู่เหตุย่อย เช่น
เหตุใหญ่ : ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย
เหตุย่อย : ต้อมเป็นคน
สรุป : ต้อมต้องตาย
เหตุใหญ่ : ถ้านักเรียนไม่ส่งการบ้านครูจะทำโทษ
เหตุย่อย : ลัดดาไม่ส่งการบ้าน
สรุป : ลัดดาต้องถูกทำโทษ
วิธีอุปมานของฟรานซิสเบคอน โดยค้นหาความจริงจากเหตุย่อยไปสู่เหตุใหญ่ เช่น
เก็บข้อมูล : โดยสังเกตว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องตาย
วิเคราะห์ข้อมูล : สังเกตว่าเป็นเช่นนั้นทุกครั้ง
สรุป :มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย
แต่การค้นหาความรู้ความจริงด้วยวิธีข้างต้นยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ จึงได้มีการคิดค้นหาวิธีการที่น่าเชื่อถือที่สุด จนกระทั่งชาร์ล ดาวิน ค้นพบวิธีการค้นหาความรู้ความจริง ที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมี 5 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นปัญหา
2.ขั้นตังสมมุติฐาน
3. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล
5. ขั้นสรุปผล
จากวิวัฒนาการของการหาความรู้ความจริงของมนุษย์ จะเห็นว่ามนุษย์พยายามแสวงหาวิธีค้นหาความรู้ความจริงที่ดีที่สุด และในปัจจุบันได้ค้นพบว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการที่จะทำให้ได้ความรู้ความจริงที่เชื่อถือได้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีการที่ใช้เหตุผลขั้นสูง มีแบบแผน และมีขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบ มนุษย์จึงได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นกระบวนการของการทำวิจัยในทุกสาขาอาชีพ